จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ต้อกระจก (cataract)


ต้อกระจก เป็นสาเหตุตาบอดอันดับ 1 ในโลกปัจจุบัน เนื่องจากต้อกระจกเป็นภาวะเสื่อมของร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่ทุกท่านต้องเผชิญเมื่ออายุมากขึ้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถรักษาโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น

ต้อกระจกคืออะไร
คำว่าต้อกระจก อาจทำให้หลายท่านเข้าใจว่าเป็นภาวะเสื่อมที่กระจกตาหรือตาดำ ทั้งที่โรคนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกระจกตา แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่เลนส์ตาของเราต่างหาก
เลนส์ตา เปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับเลนส์กล้องถ่ายรูป โดยตัวเลนส์ที่อยู่ภายในลูกตา ทำหน้าที่รวมแสงและปรับโฟกัสภาพให้ตกลงที่จอประสาทตา เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด เมื่อเลนส์ตาเสื่อมลง แสงผ่านได้น้อยลง การมองเห็นจึงแย่ลงตามไปด้วย




อาการของโรคต้อกระจก
อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการตามัว โดยมักจะค่อยๆมัวลงช้าๆ เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี และเมื่อใส่แว่นตา ก็ไม่ดีขึ้น บางท่านอาจมีปัญหาเห็นแสงกระจาย โดยเฉพาะเวลาขับรถตอนกลางคืน
โรคต้อกระจก หากปล่อยไว้จนเป็นมาก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ต้อหิน หรือ น้ำวุ้นลูกตาอักเสบ ซึ่งมักมีอาการปวดตา ตาแดงร่วม ทำให้สภาพตาโดยรวมแย่ลงได้ การรักษาเมื่อเป็นมากแล้ว ยุ่งยากกว่าผลการรักษาอาจไม่ดีเท่าที่ต้องการ และอาจสูญเสียการมองเห็นถาวรได้

การรักษาโรคต้อกระจกมีวิธีใดบ้าง
1. ยาชะลอต้อกระจก  บริษัทยาหลายแห่งพยายามคิดค้น ยาที่ช่วยยับยั้งการเสื่อมของเลนส์ตา โดยยาที่นิยมกัน มักอยู่ในรูปยาหยอดตา ซึ่งมักได้ผลในคนที่มีต้อกระจกไม่มาก และต้องใช้ยาต่อเนื่อง เมื่อหยุดยา การเสื่อมก็จะเป็นต่อไป ดังนั้นการใช้ยาจึงเป็นเพียงการชะลอความเสื่อม ใช้สำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมที่จะผ่าตัดรักษาต้อกระจก

2. การผ่าตัดรักษา
การผ่าตัดรักษาต้อกระจก ถือเป็นวิธีการรักษาที่ทำให้โรคต้อกระจกหายขาด  มีบันทึกการผ่าตัดต้อกระจกในประวัติศาสตร์มานับพันปีแล้ว และมีวิวัฒนาการให้ดีขึ้นเรื่อยมา จนในปัจจุบัน มีวิธีหลักๆในปัจจุบันอยู่ 2 วิธี คือ

การผ่าตัดต้อกระจกมาตรฐาน เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดแผลที่ขอบตาดำ ยาวประมาณ 9 - 10มิลลิเมตร เพื่อนำเนื้อเลนส์ต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปทดแทน และเย็บปิดแผลด้วยไหมขนาดเล็ก 5-7 เข็ม ปัจจุบันการผ่าตัดวิธีนี้นิยมลดลง เนื่องจากพักฟื้นนานประมาณ 2 3 สัปดาห์ และอาจจำเป็นต้องตัดไหมหลังผ่าตัด แต่ก็ยังจำเป็นในกรณีผู้ป่วยเป็นต้อกระจกที่แข็งมาก (สุกแล้ว) หรือ ในที่ที่ไม่มีอุปกรณ์ผ่าตัดที่ทันสมัยกว่า

การสลายต้อกระจกโดยคลื่นความถี่สูง (อัลตร้าซาวน์) เป็นการรักษาต้อกระจกที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน โดยการเจาะรูเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตร บริเวณขอบตาดำ และใส่เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายปลายปากกาขนาดเล็กเข้าไปในลูกตา เพื่อปล่อยคลื่นความถี่สูง สลายเลนส์ต้อกระจก จากนั้นจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ เข้าทางรูที่เจาะไว้ เลนส์แก้วตาเทียมจะคลี่ตัวจนเข้าที่อยู่ภายในลูกตา ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน วิธีนี้เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเย็บแผล และไม่จำเป็นต้องฉีดยาชาก่อนการผ่าตัด   ผู้ป่วยสามารถกลับพักผ่อนที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล และแผลหายเร็วกว่าวิธีมาตรฐานมาก ดังนั้นการฟื้นตัวการมองเห็นหลังผ่าตัดจึงเร็วกว่า
เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่แบบ
เลนส์แก้วตาเทียมคือเลนส์ที่สังเคราะห์ขึ้น ทำจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อตา ใส่ทดแทนเลนส์ตาเดิม   มี 2 รูปแบบหลักๆ คือ
เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับไม่ได้    เหมาะกับการผ่าตัดต้อกระจกมาตรฐาน เนื่องจากแผลเปิดกว้างเพียงพอที่จะใส่เลนส์ชนิดนี้

เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้    เหมาะกับการสลายต้อกระจกโดยคลื่นความถี่สูง เนื่องจากสามารถใส่ผ่านรูเจาะขนาดเล็กได้


จักษุแพทย์สามารถเลือกเลนส์แก้วตาเทียมเพื่อแก้ไขสายตาได้ในการรักษาต้อกระจก ซึ่งมีการออกแบบเลนส์แก้วตาเทียมหลายชนิด

เลนส์แก้วตาเทียมมาตรฐาน  คือเลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถโฟกัสชัดที่ระยะเดียว  ส่วนใหญ่มักเลือกให้โฟกัสชัดที่ระยะไกล  เมื่ออ่านหนังสือ ต้องใส่แว่นช่วยให้ชัดขึ้น
ในปัจจุบันเลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ ยังมีการออกแบบพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองให้ดียิ่งขึ้น เช่น
เลนส์ลดการกระจายแสง (aspheric, wavefront design)  ช่วยให้มองภาพ ได้คมชัดมากขึ้น และแสงกระจายลดลง
เลนส์โฟกัสได้หลายระยะ (multifocal) ช่วยให้ผู้ที่ใช้เลนส์ชนิดนี้ สามารถมองไกล และใกล้ ได้ชัดเจน โดยลดการใส่แว่นลง ทำให้สบายมากขึ้น ไม่ต้องกังวลพกแว่นอ่านหนังสือตลอดเวลา
เลนส์แก้ไขสายตาเอียง (toric) ใช้สำหรับผู้ที่มีสายตาเอียงร่วมด้วย เพื่อมองภาพได้ดีขึ้น
การเลือกใช้เลนส์ชนิดใด ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และความเข้าใจขีดจำกัดของเลนส์ชนิดนั้นๆ เพราะเลนส์ชนิดพิเศษมักมีราคาสูงกว่าเลนส์ทั่วไปด้วย