จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ต้อหิน (glaucoma)



ลูกตาคนเรามีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ภายใน ซึ่งลูกตามีการสร้างน้ำออกมา และมีการระบายออก ซึ่งต้องสมดุลกัน   ถ้าการระบายน้ำในลูกตาออกยาก ก็ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในลูกตา และเมื่อน้ำคั่งในลูกตามาก ก็ทำให้ตาแข็ง จนแข็งเหมือนหิน เลยเรียกกันว่าเป็นต้อหิน ไม่ได้มีก้อนหินใดๆในตาครับ

เมื่อตาแข็งขึ้น ความดันตาก็สูงขึ้น  ความดันตาที่สูง ก็ไปกดเส้นประสาทตา    เส้นประสาทตาที่ถูกกดนานๆ ก็ทำให้เกิดการเสียหายขึ้น การรับภาพก็แย่ลง และในที่สุด ถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้



อาการที่พบ

                อาการปวดตา ตามัว ตาแดง เฉียบพลัน เป็นอาการที่พบได้ในต้อหินชนิดมุมปิดเฉียบพลัน  อย่างไรก็ตามถ้าเป็นต้อหินชนิดอื่น อาการเริ่มต้นมักไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง

ดังนั้นความน่ากลัวของโรคต้อหินอยู่ที่ การมองเห็นในช่วงแรกของโรคยังชัดเจนอยู่  เนื่องจากภาพการมองเห็น หรือเรียกทางการแพทย์ว่า “ลานสายตา” ถูกทำลายรอบนอกก่อน ภาพตรงกลางยังเห็นชัดอยู่ ผู้ป่วยจึงอาจไม่สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้  จนเป็นระยะท้ายของโรคแล้วจึงเพิ่งสังเกตว่าตามัวแล้ว  ซึ่งเส้นประสาทตา ถือเป็นส่วนหนึ่งของสมอง  ดังนั้นส่วนที่เสียไปแล้ว จึงไม่ฟื้นขึ้น และการรักษาจึงเป็นการประคับประคองให้ส่วนที่เหลืออยู่ คงให้ได้นานที่สุดเท่านั้น


ชนิดของโรคต้อหิน
มีการแบ่งชนิดของต้อหินหลายแบบ เพื่อใช้ในการอธิบาย เช่น

1.       ต้อหินมุมปิด/ ต้อหินมุมเปิด

เป็นการแบ่งตามลักษณะมุมช่องระบายน้ำลูกตา  ชนิดมุมปิด เป็นชนิดที่ทางระบายน้ำในลูกตาแคบ ทำให้ระบายน้ำลำบาก  ส่วนชนิดมุมเปิด เป็นชนิดที่ช่องระบายน้ำกว้างแต่โครงสร้างผิดปกติ

2.       ต้อหินปฐมภูมิ/ ต้อหินทุติยภูมิ

เป็นการแบ่งตามการเกิดต้อหิน  แบบปฐมภูมิ คือ ต้อหินที่เกิดขึ้นเอง โดยอายุที่เพิ่มขึ้น ก็มีโอกาสเกิดต้อหินมากขึ้น   ส่วนแบบทุติยภูมิ คือ ต้อหินที่เกิดจากโรคอื่น เช่น ม่านตาอักเสบ หรือ อุบัติเหตุที่ทำให้โครงสร้างลูกตาอักเสบ เป็นต้น

3.       ต้อหินชนิดความดันตาสูง/ ต้อหินชนิดความดันตาปกติ  

ต้อหินชนิดความดันตาสูง คือสูงเกินค่าปกติที่ประมาณ 20 มิลลิเมตรปรอท เป็นชนิดที่พบทั่วไป  ส่วนชนิดความดันตาปกติ เป็นชนิดที่แม้ความดันตาอยู่ในช่วงปกติของประชากรทั่วไป แต่ขั้วประสาทตาไม่สามารถทนแรงดันในระดับปกติได้ ต้องรักษาให้ระดับความดันตาลดต่ำกว่าทั่วไป



การรักษาโรคต้อหิน

1.       ยารักษาต้อหิน

ยารักษามีทั้งชนิดหยอดตา ซึ่งเป็นที่นิยม เพราะใช้ง่าย ออกฤทธิ์โดยตรงที่ตา ผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อย  มีทั้งแบบหยอดวันละครั้ง วันละสองครั้ง หรือ สามถึงสี่ครั้ง ก็ขึ้นอยู่กับชนิดยา

ยากิน และ ยาฉีด มักใช้ในกรณีความดันตาที่สูงมาก จนอาจควบคุมไม่ได้โดยยาหยอด

2.       เลเซอร์รักษา

มีทั้งเลเซอร์รักษาต้อหินมุมเปิด และ เลเซอร์รักษาต้อหินมุมปิด  ในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูง และสามารถทำได้ที่ห้องตรวจ ไม่ต้องเตรียมตัวมากนัก

3.       ผ่าตัด

ในปัจจุบัน มียาและเลเซอร์รักษาต้อหินที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นการผ่าตัดจึงทำในกรณีที่รักษาโดยวิธีอื่นไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารถรักษาโดยวิธีอื่นได้   การผ่าตัดมีหลายวิธีขึ้นกับความรุนแรงของโรค และสภาพตา


การป้องกัน

การป้องกันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับต้อหิน เพราะโรคต้อหิน เมื่อเป็นแล้ว ไม่สามารถคืนสู่ปกติได้ เพียงแต่การรักษาเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นไม่ให้มากขึ้น ดังนั้นในปัจจุบันจึงแนะนำผู้ที่ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำเช่น

1.       ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

2.       ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน

3.       ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง

4.       ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า

5.       ผู้ที่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุบริเวณตา



พ.ท.ผศ.นพ.ธีระเทพ ตันตยาคม