จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

มองใกล้ มองไกล มองโลกแจ่มใส ในวัยสูงอายุ (Presbyopia)



ท่านผู้อ่านเคยลองสังเกตไหมครับว่า ทำไมหนอผู้เฒ่าผู้แก่ เวลาอ่านหนังสือ ต้องเหยียดแขนถือหนังสือซะไกล หรือ บางคนตอนวัยรุ่นก็ยังมองเห็นชัดแจ๋ว พออายุมากขึ้นกลับต้องใส่แว่นเพื่ออ่านหนังสือ สายตากลับหรือ เกิดอะไรขึ้นกับตาเรากันแน่

ไม่ต้องแปลกใจครับ ภาวะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกๆคน และเนื่องจากมักพบภาวะนี้ตอนอายุมากขึ้น ตามพจนานุกรมกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจึงให้เรียกว่า สายตาผู้สูงอายุ (presbyopia) นั่นเองครับ

แล้วภาวะสายตาผู้สูงอายุ คืออะไรกัน

สายตาผู้สูงอายุ คือ ความสามารถในการเพ่งมองวัตถุที่ใกล้ (accommodation) ลดลง พบภาวะนี้ได้ตั้งแต่อายุสี่สิบต้นๆ และความสามารถในการเพ่งนี้จะค่อยๆน้อยลง และมักคงที่ช่วงอายุเกิน 60ปีไปแล้วครับ

ก่อนอื่นผมขออธิบายโครงสร้างของดวงตาเราก่อน โดยเปรียบดวงตาเทียบได้กับกล้องถ่ายรูป ซึ่งมีส่วนหน้าคือ กระจกตา (cornea หรือตาดำที่เราเรียกกัน) เปรียบเหมือนกระจกฝากล้อง เลนส์แก้วตา (crystalline lens) เปรียบเหมือนเลนส์กล้อง ที่สามารถปรับกำลังหักเหแสงให้แสงจากวัตถุตกลงบนจอประสาทตา (retina) ซึ่งเปรียบเหมือนฟิล์มกล้องถ่ายรูป เพื่อให้แปลงสัญญาณเป็นภาพในสมอง เมื่อเราต้องการจ้องวัตถุที่อยู่ใกล้ หรือเปรียบเหมือนต้องการถ่ายภาพที่ใกล้ ดวงตาเราจำเป็นต้องเพ่ง หรือการปรับระยะชัด (focus) ของเลนส์กล้องถ่ายรูปนั่นเอง

เด็กแรกเกิดมีความสามารถในการเพ่งเยอะที่สุด เมื่อโตขึ้น ความสามารถนี้ก็ค่อยๆลดลง จนถึงอายุประมาณ 40 ปี ความสามารถในการเพ่ง ก็ลดลงน้อยกว่าระดับที่ใช้ในการอ่านหนังสือในระยะปกติ หรือประมาณ 1 ฟุตทั้งที่บางคนยังมองไกลๆทั่วไปได้ เมื่อความสามารถในการเพ่งลดลง ทำให้เห็นตัวหนังสือมัวๆ เขียนหนังสือก็ลำบาก บางคนอาจบ่นว่ากินอาหารไม่อร่อย เพราะมองไม่เห็นความน่ารับประทานของอาหารก็มี อย่างนี้เป็นต้น

ดังที่กล่าวในตอนต้น ภาวะสายตาผู้สูงอายุนั้น ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อถึงอายุหนึ่งก็ต้องเป็นมากน้อยต่างกันไป ไม่ว่าเดิมเคยสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงก็ตาม แม้ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นบางท่านอาจบอกว่าตนไม่ต้องใส่แว่นเวลาอ่านหนังสือก็ยังเห็นแม้อายุมากแล้วก็ตาม แต่เพราะเหตุใด ผมขอเก็บไว้อธิบายตอนหลัง

ผู้ที่มีภาวะสายตาผู้สูงอายุ นอกจากมองเห็นที่ใกล้ไม่ชัดแล้ว ยังอาจมีอาการปวดหัวซึ่งเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อตาเนื่องจากพยายามเพ่งได้

สาเหตุที่ความสามารถในการเพ่งลดลง มีหลายทฤษฎี เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเนื้อเลนส์แก้วตาทำให้ความยืดหยุ่นน้อยลง บางทฤษฎีว่าแรงดันให้เลนส์แก้วตาเคลื่อนตัวมาด้านหน้าลดลงเวลาเพ่ง ทำให้มองใกล้ลำบากขึ้น บางทฤษฎีก็ว่า เส้นใยที่ยึดเลนส์แก้วตาหย่อนทำให้แรงดึงลดลง เป็นต้น อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด เอาเป็นว่าที่แน่ๆคือ ความสามารถในการเพ่งอ่านหนังสือลดลง

หลายท่านเมื่ออ่านถึงตรงนี้ อาจเริ่มสงสัยว่า แล้วภาวะสายตาผู้สูงอายุแตกต่างจาก ภาวะสายตาสั้น สายตายาว อย่างไร

กลไกการเกิดสายตาสั้น สายตายาวนั้น แตกต่างจากภาวะสายตาผู้สูงอายุ สายตาผู้สูงอายุ เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น ในขณะที่ สายตาสั้นยาวนั้น เกี่ยวข้องกับลักษณะโครงสร้างของลูกตา และ กรรมพันธุ์ที่ทำให้แสงไม่ตกลงพอดีที่จอประสาทตา ซึ่งต้องอธิบายกลไกการมองเห็นสักหน่อยครับ

สายตาปกติ คือการที่แสงจากวัตถุที่ระยะไกลเข้าสู่ตา ผ่านกระจกตาหรือ ตาดำ (cornea) ซึ่งเป็นส่วนหน้าสุด ต่อไปที่เลนส์แก้วตา และปรากฏเป็นภาพตกลงที่จอประสาทตาพอดี แต่เมื่อต้องมองที่ใกล้ เช่นอ่านหนังสือ สมองเราก็ยังต้องการมองให้เห็นชัด จึงต้องเพ่ง หรือใช้กลไกการเพิ่มกำลังหักเหแสงโดยเลนส์แก้วตา เพื่อคงให้เกิดการรวมภาพที่จอประสาทตาเช่นเดิม ซึ่งกลไกเหล่านี้เกิดขึ้นอัตโนมัติโดยที่เราไม่รู้ตัวจริงแล้วสายตาเรากำลังเพ่งอ่านหนังสืออยู่ ดังนั้นถ้าใช้ยายับยั้งการเพ่ง เราก็ไม่สามารถอ่านหนังสือชัดได้



ภาวะสายตาสั้น หรือ การมองระยะไกลไม่ชัด เพราะแสงจากวัตถุที่ระยะไกล หักเหผ่านกระจกตา และเลนส์แก้วตา แล้วรวมภาพหน้าต่อ (ก่อนถึง) จอประสาทตา อาจเป็นเพราะลูกตายาวกว่าปกติ หรือกำลังหักเหแสงของกระจกตาหรือเลนส์แก้วตามากกว่าปกติ แต่เมื่อวัตถุเคลื่อนเข้าใกล้ตามากขึ้น แสงที่เข้าตาก็จะเคลื่อนไปด้านหลังมากขึ้น หรือ เคลื่อนเข้าใกล้จอประสาทตามากขึ้น จนเมื่อวัตถุอยู่ใกล้พอ ภาพก็จะตกลงบนจอประสาทตาพอดี ก็จะเห็นชัด เช่น ผู้ที่สายตาสั้น2 ไดออปเตอร์ (ตามหน่วยวัดทางจักษุ) หรือ สั้นสองร้อยตามที่เราเรียกกัน จะเห็นชัดที่ระยะ 50 ซ.ม. เป็นต้น และถึงแม้วัตถุที่อยู่ใกล้กว่า 50 ซ.ม. ก็ยังเห็นชัดได้ถ้าเพ่งซึ่งใช้กำลังในการเพ่งน้อยกว่าคนที่สายตาปกติครับ (เพราะจุดเริ่มต้นที่ต้องเพ่งอยู่ใกล้กว่านั่นเอง) ดังนั้นผู้ที่มีสายตาสั้นจึงสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น และถึงแม้จะสูญเสียความสามารถในการเพ่งไป ก็ยังเห็นในระยะใกล้ๆในระดับสายตาที่เป็นอยู่ของเขาได้ เพราะเป็นระยะที่ไม่ต้องใช้การเพ่ง อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องใส่แว่นเพื่อมองระยะไกลอยู่ดีครับ

ส่วนภาวะสายตายาว ซึ่งผมเชื่อว่า หลายๆท่าน ยังเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกับ ภาวะสายตาผู้สูงอายุ ก็เพราะว่า มองใกล้ไม่ชัดเหมือนกัน แต่จริงๆแล้วภาวะสายตายาวเกิดจากการที่แสงจากวัตถุผ่านการหักเหโดยกระจกตาและเลนส์แก้วตา แล้ว ปรากฏเป็นภาพเลยจอประสาทตาไป ทำให้เห็นภาพไม่ชัด สมองจึงสั่งการให้เพ่งหรือปรับความโค้งของเลนส์แก้วตา ให้หักเหแสงมากขึ้น จนภาพตกลงบนจอประสาทตาพอดี ซึ่งถ้าไม่มีความสามารถในการเพ่งเลย ผู้ที่สายตายาวนั้นก็ไม่สามารถมองชัดที่ระยะใดได้เลย ในวัยเด็ก ความสามารถในการเพ่งยังดีอยู่ แม้มีปัญหาสายตายาว ก็ยังมองไกลชัด โดยสมองสั่งการให้เพ่งอยู่ตลอดเวลาเพื่อคงความชัดไว้ และมองใกล้ ก็เพ่งเพิ่มอีกหน่อยก็เห็น ทำให้รู้สึกว่าเหมือนสายตาปกติ เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการเพ่งลดลง การมองใกล้ๆเริ่มไม่ไหว เริ่มมีอาการอ่านหนังสือไม่ชัด ต่อมาเริ่มมองจอทีวีไม่ชัด จนในที่สุดมองไม่ชัดในทุกระยะ จึงต้องใส่แว่นสายตายาวเพื่อมองไกล และจำเป็นต้องใส่แว่นสำหรับมองใกล้เนื่องจากสูญเสียความสามารถในการเพ่งไปด้วย

เอาหละครับ เมื่อเราทราบถึงกลไกการเกิดภาวะสายตาผู้สูงอายุแล้ว มีวิธีการรักษาภาวะนี้อย่างไรบ้าง

การใส่แว่นตา เป็นวิธีที่นิยมและง่ายที่สุด อย่างที่เราเห็นผู้ใหญ่ใส่กัน มีหลายรูปแบบ เช่น

แว่นอ่านหนังสือ (near monofocal spectacles) ใช้เฉพาะเวลาอ่านหนังสือ ส่วนเวลามองทั่วไป ก็ถอดแว่นออก ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีสายตาปกติแต่ความสามารถในการเพ่งลดลง แว่นลักษณะนี้เราสามารถหาได้ตามห้าง หรือร้านขายของชำทั่วไป (nonprescription over-the-counter reading glasses) ซึ่งราคาไม่แพง แต่จริงๆแล้วแว่นที่ดี นอกจากค่าสายตาที่ถูกต้องแล้ว จำเป็นต้องมีระยะห่างของเลนส์แว่น 2 ข้างที่เหมาะกับตาเรา การวัดแว่นโดยผู้เชี่ยวชาญจึงได้ค่าที่แม่นยำกว่าครับ

แว่น 2 ชั้น (bifocal spectacles) เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยม เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้มองไกล และ มองใกล้ในแว่นอันเดียวกัน ซึ่งมักให้เลนส์แว่นส่วนบนสำหรับมองไกล และส่วนล่างสำหรับมองใกล้ ไว้สำหรับเวลาเหลือบอ่านหนังสือ ระหว่างเลนส์ 2 ชั้นจะเห็นรอยต่อ ซึ่งใครที่ใส่แว่นแบบนี้ก็มักถูกมองว่าเป็นคนมีอายุ ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตแว่นจึงพยายามออกแบบแว่นให้มองเห็นรอยต่อยากขึ้น เพื่อความรู้สึกที่ดีของผู้ใส่

แว่นมองได้หลายระยะ (multifocal spectacles) หรือแว่นโปรเกรสสีป เลนส์แว่นถูกออกแบบให้เห็นได้หลายระยะ เหมาะกับผู้ที่จำเป็นต้องใช้สายตามองหลายระยะ ตัวเลนส์มักให้ส่วนบนมองไกล ตรงกลางเลนส์ ใช้มองระยะกลางเช่นหน้าจอคอมพิวเตอร์ และส่วนล่างใช้สำหรับอ่านหนังสือ แว่นชนิดนี้มักไม่มีรอยต่อ ทำให้ดูสวยงาม แต่การใส่แว่นแบบนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับสายตาอยู่ระยะหนึ่ง เพราะการมองผ่านแต่ละจุดของแว่น ภาพจะไม่เท่ากันทำให้เห็นเป็นลักษณะคลื่นลอยๆได้

แต่เดิมเลนส์แว่นมักทำมาจากกระจก ซึ่งแตกง่าย และมีน้ำหนักมาก ปัจจุบันจึงนิยมใช้พลาสติกทำตัวเลนส์ นอกจากเบาและไม่แตกง่าย ยังมีบางชนิดที่มีคุณสมบัติการหักเหแสงที่ดีกว่า (high refractive index) ทำให้ตัวเลนส์บางลง

แว่นตายังคงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาสายตาผู้สูงอายุที่ปลอดภัยและถูก อย่างไรก็ตามการใส่แว่นอาจไม่ค่อยสะดวกในบางอาชีพ รวมทั้งในผู้ที่มีระดับสายตาผิดปกติมาก การใส่แว่นอาจเกิดปัญหามองภาพบิดเบี้ยว (distortion) และภาพมีขนาดผิดเพี้ยนไปได้ การรักษาโดยวิธีอื่นๆจึงเป็นทางเลือกเพื่อลดปัญหาเหล่านี้

เลนส์สัมผัส (contact lens) มีทั้งชนิดแข็ง (rigid gas permeable lenses) และ ชนิดนิ่ม (soft contact lenses)

เลนส์สัมผัสชนิดแข็งออกแบบมาให้มีการผ่านของออกซิเจนที่ดี และเนื่องจากตัวเลนส์ไม่มีส่วนประกอบของน้ำ จึงไม่แห้งเหมาะกับผู้ที่ทำงานในที่แห้ง หรือลมพัดแรง รวมทั้งเหมาะกับผู้มีภาวะตาแห้งด้วย เลนส์สัมผัสชนิดนี้สามารถแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติมากๆได้ โดยเฉพาะรายที่มีสายตาเอียงมาก การทำความสะอาดก็ง่าย เกิดอาการแพ้น้อยกว่า และมักใช้ได้เป็นรายปี แม้ข้อดีมีมาก แต่เป็นที่นิยมน้อยกว่าเลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม เพราะจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญวัดขนาดที่เหมาะสม รวมทั้งต้องปรับตัวเมื่อเริ่มใส่ เนื่องจากอาจรู้สึกเจ็บมากกว่า และเนื่องจากเลนส์มีขนาดเล็กจึงหลุดง่าย ไม่เหมาะกับนักกีฬา

ถึงแม้เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มจะมีข้อด้อยกว่าชนิดแข็งในหลายๆด้าน แต่เพราะความยุ่งยากในการใส่เลนส์สัมผัสชนิดแข็ง จึงทำให้ เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มเป็นที่นิยมกว่า

นอกจากนี้เลนส์สัมผัสยังออกแบบมาในหลายลักษณะ เช่น

เลนส์สัมผัสชนิดมอง 2 ระยะ (bifocal contact lenses) มี 2 รูปแบบคือ ชนิดวงในวงนอก (simultaneous image type) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ 2 ระยะพร้อมๆกัน ซึ่งอาจต้องปรับตัวนิดหน่อยในการมอง มีผลิตทั้งชนิดแข็ง และนิ่ม อีกแบบหนึ่งคือ ชนิดครึ่งบนมองไกลครึ่งล่างมองใกล้ (alternating image design) หลักการก็เหมือนกับแว่น 2 ชั้น คือ เหลือบลงเพื่ออ่านหนังสือ แบบนี้ทำเฉพาะในเลนส์สัมผัสชนิดแข็งเพราะจะไม่เคลื่อนตัวลงตามการกลอกของตามากนัก

เลนส์สัมผัสชนิดมองหลายระยะ (multifocal contact lenses) หลักการคล้ายแว่นมองได้หลายระยะ และจำเป็นต้องปรับตาในการใส่เลนส์ชนิดนี้เช่นกัน

การผ่าตัดรักษา การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะสายตาผู้สูงอายุ มี 2 กลุ่มหลักๆที่ปัจจุบันสามารถทำได้ คือ การแก้ไขที่กระจกตา และการแก้ไขที่ เลนส์แก้วตา

การผ่าตัดแก้ไขที่กระจกตามีการพัฒนาออกมาหลายวิธี ซึ่งมีข้อดี และข้อจำกัด ซึ่งผมขอกล่าวในแต่ละเทคโนโลยีดังนี้

เลสิกส์ (LASIK) เป็นที่นิยมมานานกว่า 10 ปีในการรักษาภาวะสายตาสั้น และสายตายาว โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องเปิดกระจกตา (microkeratome) ใช้เพื่อเปิดผิวกระจกตา แล้วจึงทำการยิงเลเซอร์ที่มีความละเอียดสูง (excimer laser) เพื่อปรับสภาพความโค้งผิวกระจกตา ในการรักษาสายตาผู้สูงอายุโดยเลสิกส์ (presbyopic LASIK) ทำโดยการปรับความโค้งผิวกระจกตาให้มองได้หลายระยะ



ส่วนตรงกลางกระจกตารวมแสงจากวัตถุที่อยู่ใกล้ ส่วนกระจกตาด้านข้างรวมแสงจากที่ไกล วิธีการนี้เริ่มนำมาใช้กันบ้าง แต่มีปัญหาที่พบได้บ่อยคือ เห็นแสงกระจาย (glare) หรือ แสงเป็นวง (halos) รวมทั้งความคมชัดของภาพลดลง จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่รับการรักษาด้วยวิธีนี้ยังพึงพอใจไม่มากนัก

พีอาร์เค (PRK) เป็นการนำเลเซอร์ชนิดเดียวกับเลสิกส์มาใช้ ต่างกันที่ไม่ต้องเปิดกระจกตา ข้อดีคือลดปัญหาเรื่องแผ่นกระจกตาเคลื่อนหรือเป็นรอย แต่ข้อเสียคือเจ็บกว่าเลสิกส์เล็กน้อยในช่วงสัปดาห์แรกหลังการยิงเลเซอร์ ส่วนการนำมาใช้รักษารวมทั้งปัญหาที่พบอื่นๆก็เช่นเดียวกับเลสิกส์

ซีเค (conductive keratoplasty) เป็นการนำคลื่นวิทยุมาใช้จี้บนกระจกตา ทำให้เนื้อกระจกตาบริเวณนั้นหดตัว เพื่อให้ความโค้งกระจกตามากขึ้น เพื่อรวมแสงที่ระยะใกล้ขึ้น เดิมนำวิธีนี้มาใช้รักษาภาวะสายตายาว เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ปลอดภัย ไม่กระทบส่วนกลางกระจกตา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรับภาพ จึงนำวิธีการนี้มาใช้ เพื่อให้ตาข้างหนึ่งมองได้ในระยะใกล้ ในหลักการที่เรียกว่า โมโนวิชั่น (monovision)

โมโนวิชั่น คือ การทำให้ตาข้างหนึ่งมองไกล ตาอีกข้างหนึ่งมองใกล้ โดยทั่วไปตาข้างที่เด่นหรือข้างที่ถนัดมักใช้สำหรับมองไกล และตาอีกข้างใช้สำหรับมองใกล้ อย่างไรก็ตามควรลองในทางกลับกันด้วย เพราะบางคนก็ถนัดในการใช้ตาเด่นมองใกล้ครับ

มีวิธีที่ใช้ทดสอบดูว่าตาข้างไหนเป็นตาเด่นหลายวิธี เช่น เวลาถ่ายรูปใช้ตาข้างไหนมองกล้อง ตาข้างนั้นเป็นตาเด่น หรืออีกวิธีหนึ่งง่ายๆคือ ให้ลองเหยียดแขนทั้ง 2 ข้างขึ้น กางนิ้วหัวแม่มือออก แล้ววางมือซ้อนกัน โดยให้นิ้วหัวแม่มือขวาทับนิ้วหัวแม่มือซ้าย ส่วนนิ้วที่เหลือมือขวาทับนิ้วที่เหลือมือซ้าย และเว้นช่องว่างระหว่างมือทั้งสองให้กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใช้ตาทั้งสองข้างมองผ่านช่องนี้ไปยังสิ่งของอันใดอันหนึ่ง ลองหลับตาทีละข้าง ถ้าหลับตาข้างซ้ายแล้วยังมองเห็นวัตถุนั้นอยู่แสดงว่าตาข้างขวาเด่น และตรวจยืนยันโดยลองหลับตาข้างขวา สิ่งของนั้นจะโดนมือบังมองไม่เห็น ก็เป็นการยืนยันตาขวาเด่น ในทางกลับกัน ถ้าหลับตาข้างขวาแล้วยังมองเห็นสิ่งของที่จ้องอยู่ แสดงว่าตาข้างซ้ายเด่นนั่นเอง

การทำโมโนวิชั่น ก็ใช้หลักการต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การใส่แว่น ก็ตัดแว่นข้างหนึ่งให้มองไกลชัด อีกข้างหนึ่งมองใกล้ชัด การใส่เลนส์สัมผัสก็เช่นกัน ถ้าสายตาปกติ ก็ใส่เลนส์สัมผัสเพื่อให้มองใกล้ข้างเดียว การทำเลสิกส์ พีอาร์เค หรือ ซีเค ก็เลือกทำให้ตาข้างหนึ่งใช้มองใกล้ นั่นเอง

การทำโมโนวิชั่นเป็นการลดปัญหาจากการที่ต้องใส่แว่น 2 ชั้นซึ่งอาจดูไม่สวยในความรู้สึกบางคน หรือปัญหาการต้องถอดๆใส่ๆแว่นเวลาทำงาน โดยเฉพาะอาชีพครู พิธีกร ซึ่งต้องทั้งอ่านตัวหนังสือ และจำเป็นต้องดูนักเรียนหรือผู้ชม ตลอดเวลา แต่ขีดจำกัดของวิธีนี้ก็มีครับ คือ จะเสียความสามารถในการมองลึกตื้นของภาพไป โดยเฉพาะในที่สลัว หรือต้องการความคมชัดของภาพมากๆ บางคนอาจเกิดอาการมึนงงกับการมองภาพที่เห็นได้ ผู้ที่รักษาโดยวิธีโมโนวิชั่น จำเป็นต้องปรับการใช้สายตาอยู่หลายสัปดาห์กว่าจะคุ้นเคย และไม่ใช่ทุกคนจะปรับสายตาได้ครับ

อาจลองตอบคำถามต่อไปนี้ดูว่าเป็นอย่างไร เช่น ต้องการใช้สายตามองบางอย่างชัดๆไหมเช่นลูกกอล์ฟขณะกำลังจะตี ต้องทำงานที่มีความละเอียดสูงหรือไม่ ต้องขับรถเป็นเวลานานๆในตอนกลางคืนหรือไม่ รู้สึกหงุดหงิดเวลามองอะไรไม่ค่อยชัดหรือไม่ ถ้าตอบว่าใช่ การทำโมโนวิชั่นก็อาจไม่เหมาะกับคุณครับ

การผ่าตัดเลนส์แก้วตาและใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดมองได้หลายระยะ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เริ่มเป็นที่สนใจในปัจจุบัน

เริ่มต้นมาจากมีอยู่โรคหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกๆคนเมื่ออายุมากขึ้นและก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ตามัวได้เช่นกัน นั่นก็คือ โรคต้อกระจก โรคนี้เกิดจากความเสื่อมของตัวเลนส์แก้วตา ทำให้เลนส์ขุ่น การมองเห็นจึงแย่ลง ในอดีตเมื่อจักษุแพทย์ตรวจพบต้อกระจก หรือเลนส์แก้วตาขุ่น การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดก็คือการผ่าตัดลอกต้อกระจกออก หรือก็คือการสลายเลนส์แก้วตาเดิมซึ่งเสื่อมออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งจะคำนวณค่าที่เหมาะสมให้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ใส่ทดแทนเข้าไปในตา แต่เดิมเลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่ จะมองชัดที่จุดๆเดียว ซึ่งมักเลือกให้มองชัดที่ไกล ส่วนที่ใกล้ก็ใส่แว่นอ่านหนังสือเอา แต่ในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตเลนส์แก้วตาเทียมได้ออกแบบเลนส์ซึ่งสามารถมองเห็นได้ทั้งไกลและใกล้ ทำให้ในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ได้รับการรักษาโดยใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนี้จึงสามารถมองไกลได้ ในขณะที่อ่านหนังสือ ก็อ่านได้โดยแทบไม่ต้องใส่แว่นเลย เลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถใช้มองไกลใกล้ได้มี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

1. เลนส์แก้วตาเทียมชนิดปรับการเพ่งได้ โดยใช้หลักการเคลื่อนที่ของเลนส์แก้วตาเทียม เมื่อสมองสั่งการให้เพ่ง โครงสร้างของลูกตาจะดันเลนส์แก้วตาเทียมให้ขยับมาด้านหน้าทำให้การหักเหแสงมากขึ้น จึงมองภาพในระยะใกล้ได้ เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนี้มีที่นำมาใช้กันบ้าง ข้อดีคือ ผู้ที่ได้รับการใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดนี้สามารถควบคุมการมองได้ด้วยตัวเอง แต่ด้วยราคาที่สูงประกอบกับประสิทธิภาพที่ได้ในการมองใกล้ยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงยังไม่แพร่หลายนัก

2. เลนส์แก้วตาเทียมชนิดรวมแสงหลายระยะ ทำให้มองไกลก็ดี มองใกล้ก็ได้ จากรายงานพบว่า 80% ของผู้ที่ใช้เลนส์แก้วตาเทียมกลุ่มนี้ไม่ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือเลย แต่ข้อจำกัดก็มี คือแสงที่เข้าตาจะถูกกระจายเพื่อใช้มองในระยะต่างๆ ดังนั้นถ้าอยู่ในที่มืด ความคมชัดของภาพ อาจลดลง รวมทั้งอาจเกิดปัญหาแสงกระจายหรือเป็นวงขึ้นได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นต้อกระจก และสนใจเลนส์ชนิดนี้ จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำและการตรวจโดยละเอียดจากจักษุแพทย์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนตัดสินใจเลือกเลนส์ชนิดนี้ครับ

หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วถ้ายังไม่เป็นต้อกระจก แต่อยากใส่เลนส์แบบนี้หละ ทำได้ไหม ตามทฤษฎีก็ต้องตอบว่าได้ครับ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า clear lens extraction แม้การผ่าตัดเลนส์แก้วตาในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูงมาก แต่ก็ยังเป็นการผ่าตัดอยู่ดีครับ โอกาสติดเชื้อ เกิดการอักเสบก็มีได้ หรืออาจถึงขั้นตาบอดถ้าเกิดปัญหาขึ้น ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้ว จึงแนะนำให้ทำเมื่อตรวจพบต้อกระจกร่วมด้วย จะคุ้มค่าความเสี่ยงมากกว่าครับ

การรักษาภาวะสายตาผู้สูงอายุ มีมากมายหลายวิธีให้ท่านเลือก แต่ละวิธีมีข้อดีข้อด้อยต่างกันไป ไม่มีวิธีใดดีที่สุด และไม่ควรคาดหวังเกินจริง หวังว่าทุกท่านคงได้ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง (ในอนาคต) ดังที่กล่าวว่า มองใกล้ มองไกล ก็ยังมองโลกแจ่มใสได้แม้ในวัยสูงอายุ ครับ



พ.ท.ผศ.นพ.ธีระเทพ ตันตยาคม





หนังสืออ้างอิง

1. A long-sighted look at presbyopia (Lao Hua Yan) Facts, fiction and hope. J Theng. Eagle Eye Center, Mount Alvernia Hospital

2. Cornea 2nd edition. J H Krachmer, M J Mannis, E J Holland. Mosby Inc.

3. http://www.visualdxhealth.com/images/dx/webAdult/presbyopia_54974_lg.jpg

4. http://www.vancethompsonvision.com/vance_thompson/UserFiles/Emmetropia(1).gif

5. http://www.geocities.com/Athens/Delphi/9699/p29_eye1.jpg

6. http://www.childrenshospital.org/az/Site1517/Images/myopia_big.gif

7. http://www.childrenshospital.org/az/Site1517/Images/hyperopia_big.gif

8. http://www.woodhamseye.com/atlanta/prelex/restor.htm

9. http://my3boybarians.com/wp-content/uploads/2010/04/DominantEye.jpg