จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

โรคตาจากคอนแทกเลนส์ (Contact lens)


คอนแทกส์เลนส์ (contact lens) เริ่มใช้กันมานานกว่า 100 ปีแล้ว วัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ก็เพื่อช่วยการมองเห็นให้ดีขึ้น ความสวยงาม หรือ เพื่อรักษาโรคบางอย่าง แม้ว่ามีการพัฒนาการออกแบบคอนแทกส์เลนส์ให้ใส่สบายตาขึ้น การผ่านออกซิเจนดีขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่ดี และเนื่องจากคอนแทกเลนส์ต้องสัมผัสกับดวงตาเราโดยตรง จึงอาจเกิดปัญหาได้

โรคที่พบบ่อยคือ เยื่อบุตาอักเสบจากการใช้คอนแทกส์เลนส์ และ กระจกตาอักเสบติดเชื้อ


โรคเยื่อบุตาอักเสบจากการใช้คอนแทกส์เลนส์

การใช้คอนแทกเลนส์อาจก่อให้เกิดการอักเสบระคายเคืองที่เยื่อบุตา (หรือตาขาว)ได้จากหลายประการ เช่น จากชนิดคอนแทกส์เลนส์ น้ำยาล้างคอนแทกเลนส์ หรือ การระคายเคืองจากการที่ใส่เป็นเวลานานในแต่ละวัน หรือ การใช้ต่อเนื่องกันนานหลายปี ก็เป็นได้

อาการที่พบ เช่น เคืองตา แสบตา รู้สึกระคายเคืองเหมือนมีเม็ดทรายในตา ตาแดง บวม คันตา ต้องขยี้ตาบ่อยๆ บางครั้งถ้าเป็นมาก อาจมีปัญหาเวลาใส่คอนแทกส์เลนส์แล้วเจ็บ หรืออาจถอดคอนแทกเลนส์ยากขึ้น บางครั้งคอนแทกส์เลนส์อาจหลุดออกมาเอง หรือคอนแทกส์เลนส์เลื่อนง่าย เป็นต้น

การรักษา

การรักษาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันโดยการหยุดใส่คอนแทกเลนส์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา แต่บางครั้งถ้าจำเป็นต้องใส่อยู่ การหยุดพักการใส่คอนแทกส์เลนส์สักระยะก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดการกระตุ้นการอักเสบ

การรักษาโดยการใช้ยาหยอดตา

ถ้าเป็นน้อยๆ การใช้น้ำตาเทียม (artificial tears) หยอดตาก็สามารถลดการระคายเคืองได้ ถ้าเคืองมากก็หยอดบ่อยขึ้น น้ำตาเทียมมีทั้งชนิดมีสารกันเสีย และ ชนิดไม่มีสารกันเสีย ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องหยอดตาบ่อย

ถ้ามีการอักเสบมาก จำเป็นต้องใช้ยาลดการอักเสบ ซึ่งมีหลายประเภท ขึ้นกับความรุนแรงของการอักเสบ ยาบางตัวอาจมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ ซึ่งต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และอยู่ในการดูแลของจักษุแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อใช้เอง เพราะมีผลข้างเคียงหลายอย่าง

ยาลดการอักเสบและป้องกันการอักเสบในระยะยาว เป็นอีกกลุ่มหนึ่งสำหรับผู้ที่ที่อาจจำเป็นต้องใช้ยาเป็นเวลานานๆ เนื่องจากต้องใส่คอนแทกเลนส์ หรือโดนฝุ่น แสงเป็นประจำซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบเรื้อรังได้ ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ยาวใช้เพียง 2 ครั้งต่อวัน จึงลดความยุ่งยากในการหยอดลงและใช้ระยะยาวได้ โดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้ยาผสมสเตียรอยด์

การใช้ยารักษาสามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ แต่บางครั้งการอักเสบยังมีอยู่ ดังนั้นจึงควรใช้ยาป้องกันการอักเสบต่อระยะหนึ่ง เพื่อช่วยลดการเป็นซ้ำได้ดีกว่า

ยาลดการอักเสบชนิดรับประทาน ใช้เสริมในรายที่มีอาการมากเป็นครั้งคราว

การรักษาโดยการผ่าตัด ในผู้ที่มีการอักเสบมาก จนเกิดเป็นแผลที่กระจกตา หรือเยื่อบุตา ซึ่งทำให้การมองเห็นแย่ลง และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ จึงไม่ควรละเลยจนอาการเป็นมาก

การใช้คอนแทกเลนส์

การเลือกชนิดคอนแทกเลนส์ที่เหมาะสมมีความสำคัญในการลดโอกาสเกิดการอักเสบ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใส่แบบไหนแล้วสบายตา ที่สำคัญคือ คอนแทกเลนส์แบบรายวันมักมีปัญหาน้อยกว่าแบบรายเดือนหรือรายปี เพราะสามารถตัดปัจจัยเรื่องความสะอาดของคอนแทกเลนส์และไม่ต้องใช้น้ำยาล้างคอนแทกเลนส์ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการอักเสบได้

ความโค้งของคอนแทกเลนส์ก็มีความสำคัญ ซึ่งจักษุแพทย์สามารถวัดให้ได้ ความโค้งที่มากไปทำให้ไม่สบายตา แต่ความโค้งที่น้อยไปอาจทำให้คอนแทกเลนส์หลุดง่าย